วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สรุปการบรรยายโลกจะพบจุดจบอย่างไร??



สรุปการบรรยาย Will the world end in 2012? The Astronomical Evidence
โลกจะพบจุดจบอย่างไร??

เนื้อหาโดยย่อของการบรรยายพิเศษเนื่องในการจัดประชุมวิชาการดาราศาสตร์ ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 11

"Will the world end in 2012? The Astronomical Evidence "


โดย ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิง โจเซลิน เบล เบอร์เนล (Dame Jocelyn Bell Burnell)

University of Oxford and Mansfield College


เนื้อหาการบรรยายโดยย่อ (ภาษาไทย)


กระแสความตื่นตัวของสังคมในเรื่องการสิ้นโลกในปี ค.ศ.2012 เริ่มขึ้น เมื่อมีผู้นำเสนอว่าปฏิทินมายาโบราณ ซึ่งเป็นปฏิทินที่คำนวณและทำนายเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์ต่างๆเอาไว้ บันทึกเอาไว้ถึงวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ.2012 เท่านั้น ซึ่งบ่งชี้ถึงการสิ้นสุดของโลก


นอกจากนี้ผู้นำเสนอยังอ้างว่า ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งแผ่นดินไหว พายุ ภูเขาไฟระเบิด รวมถึงปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ยังสนับสนุนความเชื่อเหล่านี้ด้วย


ในการบรรยายครั้งนี้ จะกล่าวถึงปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่ถูกนำมาอ้างว่าเกี่ยวข้องกับความเชื่อนี้

 การกลับขั้วแม่เหล็กของดวงอาทิตย์

ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทุกๆ 11 ปี และเรายังไม่พบว่ามีผลกระทบใดที่รุนแรงต่อมนุษย์

- พายุสุริยะ

ปริมาณจุดบนดวงอาทิตย์ (Sunspot) ในช่วงสูงสุดครั้งต่อไป (Solar Maximum) จะมีปริมาณจุดน้อยกว่าช่วงสูงสุดครั้งอื่นๆ (เพียงประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น) และจะเกิดขึ้นช้า คือราวปลายปี ค.ศ. 2013 ปริมาณจุดที่มากที่สุดในครั้งที่ผ่านๆมา ไม่แสดงถึงการดับสิ้นของโลกแต่อย่างใด ดังนั้น ในครั้งนี้ก็คงไม่ส่งผลเช่นกัน แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อดาวเทียมและระบบสื่อสารต่างๆ

- สนามแม่เหล็กโลกจะกลับทิศทาง และโลกจะหมุนกลับทิศ

สนามแม่เหล็กโลกมีการกลับทิศทุกๆประมาณสามแสนปี ขณะที่มนุษยชาติเริ่มปรากฏขึ้นเมื่อประมาณสองล้านห้าแสนปีมาแล้ว ดังนั้นจึงมีการกลับทิศนี้ เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ และยังไม่พบว่ามีผลกระทบกับมนุษยชาติหรือโลกนี้อย่างไร

การกลับทิศของสนามแม่เหล็กโลกจะใช้เวลาถึงประมาณห้าพันปีจึงจะแล้วเสร็จ โดยเริ่มจากการลดลงอย่างช้าๆของสนามแม่เหล็กโลก

ในปัจจุบัน สนามแม่เหล็กโลกกำลังอ่อนลง นั่นอาจจะหมายความว่า เรากำลังจะเริ่มเข้าสู่ช่วงของการกลับทิศสนามแม่เหล็กครั้งใหม่ แต่ก็ไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนทิศทางการหมุนรอบตัวเองของโลกแต่อย่างใด

- การเรียงตัวกันของดาวเคราะห์

ในปี ค.ศ.2012 ไม่มีการเรียงตัวกันของดาวเคราะห์แต่อย่างใด และการเรียงตัวกันของดาวเคราะห์ก็ไม่ส่งผลกระทบทั้งในด้านแรงโน้มถ่วง หรือแรงไทดัล (แรงที่ส่งผลให้เกิดน้ำขึ้น-น้ำลง) บนโลก

- ดาวเคราะห์ "นิบิรุ"

เรื่องเล่าเกี่ยวกับดาวนิบิรุนั้น กล่าวว่า ดาวเคราะห์ดวงนี้ถูกสังเกตโดยชาวสุเมเรียน เมื่อ 2500 ปีก่อนคริสตกาล และพบว่า ดาวเคราะห์ดวงนี้มีคาบการโคจรเท่ากับ 3600 ปี ด้วยวงโคจรที่เป็นรูปวงรีมาก ดาวเคราะห์ดวงนี้ถูกกล่าวถึงว่าจะชนโลกในวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ.2012

โดยอ้างว่าในเวลาช่วงที่ค้นพบนั้น ดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่ห่างออกไป 400 AU (Astronomical Unit หรือ "หน่วยดาราศาสตร์" โดย 1 AU เท่ากับระยะห่างเฉลี่ยระหว่างโลกถึงดวงอาทิตย์ หรือประมาณ 149.6 ล้านกิโลเมตร) หรือเท่ากับ 10 เท่าของระยะทางถึงดาวพลูโต ซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นดาวเคราะห์ดวงนี้ได้ด้วยตาเปล่า (หรือว่านิบิรุอาจเป็นดาวแคระน้ำตาล??)

นอกจากนี้ ถ้ามนุษย์เห็นนิบิรุได้ที่ระยะห่าง 400 AU ในขณะนี้ นิบิรุก็อยู่ห่างออกไป 7 AU (ระหว่างวงโคจรของดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์) ซึ่งที่ระยะใกล้ขึ้น เราก็ควรมองเห็นนิบิรุได้ในเวลากลางวัน

แล้วในความจริง เราเห็นนิบิรุตอนกลางวันไหม??

ดังนั้น ดาวนิบิรุจึงไม่มีอยู่จริง

- ดาวเคราะห์น้อย

การพุ่งชนโลกของดาวเคราะห์น้อยขนาด 100 กิโลเมตร ถือเป็นความเสียหายที่รุนแรง ครั้งสุดท้ายที่เกิดการชนเช่นนี้ขึ้น คือเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว (ที่ทำให้เกิดหลุมอุกาบาตชิกซูลูป ประเทศเม็กซิโก) การชนในครั้งนั้นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์

การพุ่งชนขนาดใหญ่นี้เกิดขึ้นทุกๆ 50-100 ล้านปี และทำให้เกิดฝุ่นครอบคลุมชั้นบรรยากาศโลก จนพืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ (ทำให้ส่งผลรุนแรงต่อระบบห่วงโซ่อาหาร)

ในปัจจุบัน มนุษย์ได้มีโครงการเฝ้าระวังทางอวกาศต่างๆ โดยสังเกตท้องฟ้า เพื่อเฝ้าระวังดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อยต่างๆ ที่เคลื่อนที่เข้ามา ถ้าเจอวัตถุที่จะเข้ามาพุ่งชนโลก เราจะรับรู้ก่อนเป็นเวลาหลายปีก่อนที่วัตถุนั้นจะเข้ามาชน และมนุษย์สามารถกระทำการต่างๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนที่ของวัตถุนั้น

ถ้าจะมีดาวเคราะห์น้อย หรือดาวหางมาพุ่งชนโลกในปี ค.ศ.2012 นักดาราศาสตร์ก็ต้องมองเห็นมันแล้ว และยังไม่ค้นพบวัตถุที่จะเข้ามาชนโลกในปี ค.ศ.2012

- หลุมดำที่ใจกลางกาแล็กซี่ทางช้างเผือก

ในวันที่ 21 ธันวาคม โลก ดวงอาทิตย์ และหลุมดำที่ใจกลางกาแล็กซี่ทางช้างเผือก จะเรียงกันเป็นเส้นตรง แล้วระบบสุริยะจะตกลงไปในหลุมดำนี้หรือไม่??

ปรากฏารณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคมของทุกปี (ซึ่งก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น)

นอกจากนี้ หลุมดำอยู่ห่างจากระบบสุริยะออกไปถึง 26,000 ปีแสง ดังนั้น หากระบบสุริยะเคลื่อนที่เข้าหาหลุมดำนี้ด้วยความเร็วเท่าแสงต้องใช้เวลามากถึง 26,000 ปี

(ซึ่งในความเป็นจริง ระบบสุริยะเราก็ไม่ได้เคลื่อนที่เร็วขนาดนั้น และไม่ได้เคลื่อนที่พุ่งเข้าไปยังใจกลางกาแล็กซี่ทางช้างเผือก)

ประวัติวิทยากร

ศาสตราจารย์เบอร์เนล จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ด้วยการทำวิจัยในสาขาดาราศาสตร์วิทยุ ท่านได้ทำการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ด้วยกล้องดทรทรรศน์วิทยุ และได้ค้นพบวัตถุท้องฟ้าที่เรียกว่า "พัลซาร์" (Pulsar) หรือดาวนิวตรอนที่มีการแผ่คลื่นวิทยุออกมาเป็นห้วงตามอัตราการหมุนรอบตัวเองของดาว คล้ายกับประภาคาร

การศึกษาของท่านทำให้ Prof.Antony Hewish อาจารย์ที่ปรึกษาและ Prof.Martin Ryle ได้รับรางวัลโนเบล จากการค้นพบและศึกษาพัลซาร์

ศาสตราจารย์เบอร์เนลล์ทำงานวิจัยสาขาดาราศาสตร์วิทยุ โดยทำงานให้กับมหาวิทยาลัยชั้นนำ และหน่วยงานสำคัญด้านดาราศาสตร์ของสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ ยังเคยเป็นประธานของ Institute of Physics

ศาสตราจารย์เบอร์เนลล์ได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย รวมถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Commander of the order of the British Empire (CBE) และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Dame Commander of the order of the British Empire (DBE) จากสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ในปี ค.ศ.1999 และ 2007 ตามลำดับ

สำหรับรายละเอียดเรื่องประวัติวิทยากร: 
Wikipedia





Credit :  http://daejeonastronomy.exteen.com/20110811/will-the-world-end-in-2012-the-astronomical-evidence

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น