สมัยก่อนวงการวิทยาศาสตร์คือดินแดนที่ผู้หญิงแทบจะไม่มีสิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่เพียงแต่ถูกมองว่าเป็นของแปลกประหลาดเท่านั้น พวกเธอยังถูกกีดกันต่างๆ นานาทั้งจากสังคม, เพื่อนร่วมงาน, และม่านประเพณี
หนึ่งในเรื่องราวชีวิตนักวิทยาศาสตร์หญิงที่น่าสนใจ คือ เรื่องของ Jeanne Baret นักสำรวจและนักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส และน่าจะเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เดินทางรอบโลก
ในปี 1766 ราชนาวีฝรั่งเศสมีประสงค์จะส่งเรือออกไปแล่นสำรวจรอบโลก และเปิดโอกาสให้ Philibert Commerson นักพฤกษศาสตร์ชื่อดังอาศัยขึ้นเรือไปด้วย
Philibert Commerson ได้รับอนุญาตให้เอาผู้ช่วยไปด้วย 1 คน เขาเองก็ไม่รู้จะไปมองหาผู้ช่วยที่ไหนนอกจากเพื่อนคู่ใจ Jeanne Baret ติดอยู่อย่างเดียวที่เธอดันเกิดมาเป็นผู้หญิงและธรรมเนียมในสมัยนั้นก็ไม่ยอมให้ผู้หญิงขึ้นไปเดินเล่นบนเรือสำรวจง่ายๆ
Jeanne Baret จึงต้องปลอมตัวเป็นผู้ชายเพื่อให้ได้ขึ้นเรือออกสำรวจโลกกว้าง เธอกับ Philibert Commerson ได้ช่วยกันเก็บตัวอย่างพืชมาศึกษามากมาย ว่ากันว่าเธอคือนักวิทยาศาสตร์ชาวตะวันตกคนแรกที่ค้นพบเฟื่องฟ้า (bougainvillea) และเก็บตัวอย่างจากประเทศบราซิลกลับมาแยกแยะ
ในชีวประวัติของเธอมีเล่าด้วยว่าครั้งหนึ่งเธอเคยเกือบถูกจับได้ว่าเป็นผู้หญิงปลอมตัวขึ้นมา เธอต้องแก้ตัวไปว่าเธอเป็นขันทีและพิสูจน์ข้ออ้างนั้นให้กัปตันเรือดู สำหรับผู้หญิงในสังคมเมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว การพิสูจน์เรื่องดังกล่าวคงน่าอับอายมากพอที่จะทำให้ตัดสินใจฆ่าตัวตายได้เลยทีเดียว
ตามธรรมเนียม การตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตจะตั้งตามชื่อผู้ค้นพบหรือผู้วิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์ดังๆ เพื่อเป็นการให้เกียรติ ชื่อนามสกุล Commerson ก็ได้รับเกียรติที่ว่าไปเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชหลายชนิด แม้แต่ชื่อของกัปตันเรือลำที่ Philibert Commerson อาศัยไปด้วยยังได้มาเป็นชื่อสกุลของเฟื่องฟ้าเลย (ชื่อของกัปตันเรือ คือ Louis Antoine de Bougainville)
แต่ชื่อของ Jeanne Baret กลับไม่เคยได้รับเกียรติยศอันใด แม้แต่การพูดถึงยังแทบจะไม่มีด้วยซ้ำ หลังจากที่ Philibert Commerson เสียชีวิตในการเดินทางเมื่อปี 1773 เธอแทบจะไม่เหลืออะไรติดตัวเลย เพราะทั้งคู่ยังไม่ได้แต่งงานกันตามประเพณี ต่อมาเธอก็แต่งงานกับทหารคนหนึ่งและกลับมาใช้ชีวิตในฝรั่งเศส เธอเสียชีวิตลงในปี 1807 นับจากนั้นทุกอย่างก็ถูกเลือนหายไปตามกาลเวลา
จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ Eric Tepe นักพฤกษศาสตร์แห่ง University of Utah และ University of Cincinnati ได้ฟังเรื่องราวของ Jeanne Baret จากรายการวิทยุของ Glynis Ridley แล้วเกิดความซาบซึ้งใจ จึงตั้งชื่อพืชสกุลมะเขือชนิดใหม่ที่เขาค้นพบว่า Solanum baretiae ตามชื่อนามสกุลของ Jeanne Baret
มีเรื่องเล่ากันว่า Philibert Commerson ก็เคยมีความคิดจะตั้งชื่อพืชชนิดหนึ่งตามชื่อของ Jeanne Baret ด้วยเหตุผลว่าใบของพืชชนิดนั้นมีรูปร่างแปรผันหลายแบบราวกับเป็นการเตือนให้ระลึกถึงการใช้ชีวิตอันหลากหลายของ Jeanne Baret น่าเสียดายที่พืชชนิดนั้นได้รับชื่ออื่นตัดหน้าไปเสียก่อน และ Philibert Commerson ก็ไม่มีโอกาสอีกเลยตลอดชีวิตของเขา
Eric Tepe ให้ข้อสังเกตว่า S. baretiae ที่เพิ่งค้นพบก็มีลักษณะใบที่หลากหลายเช่นกัน ดังนั้นเกียรติยศอันนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ Jeanne Baret ทั้งภูมิใจและดีใจ แม้ว่าเธอจะไม่เคยคาดฝันถึงมันมาก่อนเลยก็ตาม
เพราะถึงอย่างไร มันก็คือเกียรติยศที่เธอสมควรได้รับมานานแล้ว